สาวก

Law of Computer

บทความ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่พัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของบุคคลในสังคมอย่างมาก คอมพิวเตอร์มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายรูปแบบและได้มีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการบันทึกที่สามารถดึงข้อมูลกลับได้ ตลอดจนการประมวลผลที่ถูกต้องแม่นยำทางคณิตศาสตร์
อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ
ลักษณะแรก คือ อาชญากรรมที่กระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้แก่การเข้าไปแทรกแซง ทำลาย ทำให้เปลี่ยนแปลง ทำให้เสียหายในระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์
ลักษณะที่สอง คือ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรมซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงและขยายวงกว้างเพราะการแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นไม่มีพรมแดนและมีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดไปที่อยู่ในระบบ
พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญใน ๒ ส่วน ส่วนแรกเรียกว่าเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่เป็นการกำหนดองค์ประกอบความผิดในอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การกำหนดกฎหมายในส่วนที่เป็นบทบัญญัติความผิดต่างๆ นั้นไม่น่าจะมีปัญหาเท่าใดนัก เพราะหลักการใช้กฎหมายอาญานั้นต้องตีความโดยเคร่งครัด หากมีกรณีใดบ้างที่อาจหลุดหลงไปเนื่องจากการกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ไม่ชัดเจนพอก็อาจแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ได้ในภายหลัง การที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการพิจารณายกร่างกฎหมายในส่วนนี้ไม่ได้มีการพิจารณาให้รอบคอบ แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างนี้คงได้พิจารณาเห็นว่า นับวันคอมพิวเตอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ดังนั้นโอกาสที่บุคคลเหล่านี้ซึ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำจะไปกระทำการที่เป็นความผิดได้โดยง่าย ดังนั้นองค์ประกอบความผิดที่สำคัญและจำเป็นเสมอสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือคำว่า “โดยมิชอบ” ซึ่งจะเป็นเส้นแบ่งที่ดีระหว่างการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย ๕๖
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นความผิดอาญาซึ่งหากนำความผิดส่วนนี้ไปบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาในลักษณะเดียวกับความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ก็จะทำให้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือกฎหมายวิธีพิจารณาหรือที่เรียกว่ากฎหมายวิธีสบัญญัตินั้นต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวงเป็นหลัก แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้สร้างกลไกพิเศษขึ้นมาโดยมี “พนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งได้แก่บุคคลที่มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาทำหน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนโดยมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งต้องใช้วิธีการทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์สำหรับพิสูจน์การกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำผิด
พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มี “พนักงานเจ้าหน้าที่” โดยให้มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้ตัดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ด้วยเหตุผล ๒ ประการ ประการแรกคือ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีหลายเรื่องยังคงควรเป็นของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่ด้วยไม่ว่าการจับ ควบคุมตัว รวมทั้งการรับแจ้งความร้องทุกข์ รวมตลอดไปถึงการทำสำนวนการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่วนสิ่งที่เจ้าพนักงานอื่นไม่มี คืออำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ เป็นหลัก ประการที่สองคือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มักจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นในลักษณะของการกระทำความผิดหลายบทหรือหลายกระทงต่างวาระกัน ซึ่งความผิดฐานอื่นนั้นไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
การจะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกันระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กับเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ว่าให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการประสานงานระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้กับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในเรื่องการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนการสอบสวนและการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ๕๗
ดังนั้นการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับการวางระเบียบตามมาตรา ๒๙ ดังกล่าว และมีข้อสังเกตว่าระเบียบดังกล่าวที่จะต้องออกร่วมกันนั้นเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานในเรื่องการดำเนินคดีระหว่าง “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัตินี้กับ “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานนั้นย่อมมีอำนาจออกระเบียบเพื่อบังคับใช้กับ “พนักงานเจ้าหน้าที่” หรือ “เจ้าพนักงาน” ในสังกัดของตนได้เอง
ข้อดีของการที่มาตรา ๒๙ กำหนดให้ออกเป็นระเบียบเรื่องการประสานงานทำให้เกิดความยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยสามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและอาจออกเป็นระเบียบเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ หรือเมื่อมีปัญหาข้อสงสัยในวิธีปฏิบัติต่างๆ ก็อาจออกระเบียบแก้ไขเพิ่มเติมมาได้เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็น
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
(๑) รัฐบาลควรเตรียมการในเรื่องการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องออกตามความในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ทันก่อนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้
(๒) รัฐบาลควรพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานรองรับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ทำนองเดียวกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(๓) เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ดังนั้นเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้ทราบถึงสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคคลดังกล่าวรับทราบด้วย
โดยสรุป การดำเนินการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพจะต้องมีการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงควรติดตามการออกกฎหมายลำดับรองดังกล่าวต่อไป ๕๘
ในส่วนที่เกี่ยวกับ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ก็น่าเป็นห่วงเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสืบสวนสอบสวนความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงควรมีสังกัดของหน่วยงานให้ชัดเจน เช่นในชั้นแรกอาจตั้งเป็นลักษณะของสำนักงานชั่วคราวสังกัดอยู่ในสังกัดของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก่อน เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้ประสานงานได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งการต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมาฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ ซึ่งกำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น
ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนสร้างเสริมสังคมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์
การละเมิดสิทธิซอฟแวร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น